เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] 3. กุรุธรรมจริยา
[13] เราครั้นเห็นท่านเดินสวนทางมา จึงคิดถึงประโยชน์นี้ว่า
บุญเขตนี้มาถึงสัตว์ผู้ต้องการบุญ
[14] เปรียบเหมือนบุรุษชาวนาเห็นนาเป็นที่น่ายินดีมาก
(เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ) แต่ไม่ปลูกพืชลงในนานั้น
เขาชื่อว่าเป็นผู้ไม่ต้องการข้าวเปลือกฉันใด
[15] เราผู้ต้องการบุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เห็นบุญเขตที่ประเสริฐสุดแล้ว
ถ้าไม่ทำสักการะในบุญเขตนั้น
เราก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ต้องการบุญ
[16] อำมาตย์ต้องการจะให้ชนชาวเมืองของพระราชายินดี
แต่ไม่ยอมให้ทรัพย์และข้าวเปลือกแก่ชนชาวเมืองเหล่านั้น
เขาก็ย่อมเสื่อมจากความยินดีฉันใด
[17] เราผู้ต้องการบุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เห็นทักขิไณยบุคคลที่ไพบูลย์แล้ว
ถ้าไม่ถวายทานแก่ทักขิไณยบุคคลนั้น ก็จักเสื่อมจากบุญ
[18] เราครั้นคิดอย่างนี้แล้วจึงถอดรองเท้า
กราบเท้าของท่านแล้ว ได้ถวายร่มและรองเท้า
[19] เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้ละเอียดอ่อนเจริญสุขเป็นร้อยเท่า
อนึ่ง เราเมื่อบำเพ็ญทานให้บริบูรณ์
ได้ถวายแก่ท่านอย่างนี้แล
สังขพราหมณจริยาที่ 2 จบ

3. กุรุธรรมจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าธนัญชัยกุรุราช
[20] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระราชานามว่าธนัญชัย
อยู่ในกรุงอินทปัตถ์ที่อุดม ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ 10 ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :729 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] 3. กุรุธรรมจริยา
[21] ครั้งนั้น พวกพราหมณ์ชาวแคว้นกาลิงคะได้มาหาเรา
ขอพญาคชสาร ซึ่งประกอบด้วยธัญญลักษณะ
สมบูรณ์ด้วยมงคลกับเราว่า
[22] ชนบทฝนไม่ตกเลย เกิดทุพภิกขภัย อดอยากมาก
ขอพระองค์โปรดพระราชทานพญาคชสาร
ตัวประเสริฐมีกายสีเขียวชื่อว่าอัญชันด้วยเถิด
[23] เราคิดว่าการห้ามยาจกที่มาถึงแล้ว
เป็นการไม่สมควรแก่เราเลย
กุศลสมาทานของเราอย่าได้เสียหายเลย
เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ
[24] เราได้จับงวงพญาคชสารวางลงบนมือพราหมณ์แล้ว
จึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือของพวกพราหมณ์ ได้ให้พญาคชสารไป
[25] เมื่อเราได้ให้พญาคชสารนั้นไป พวกอำมาตย์ได้กล่าวคำนี้ว่า
“เหตุไรหนอ พระองค์จึงพระราชทานพญาคชสารตัวประเสริฐ
ของพระองค์แก่พวกยาจก
[26] เมื่อพระองค์พระราชทานพญาคชสาร
ซึ่งประกอบด้วยธัญลักษณะ
สมบูรณ์ด้วยมงคล ชนะสงคราม
อันสูงสุดนั้นแล้ว พระองค์เป็นพระราชาจักทำอะไรได้”
[27] เราได้ตอบว่า แม้ราชสมบัติทั้งหมดเราก็ควรให้
ถึงสรีระของตนเราก็ควรให้
แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้พญาคชสาร ฉะนี้แล
กุรุธรรมจริยาที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :730 }